วันเสาร์ที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2561

ความหมายของหลักสูตร


ความหมายของหลักสูตร

              คำว่า “หลักสูตร” แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า “curriculum” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาละตินว่า “currere” หมายถึง “running course” หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่ง ต่อได้นำศัพท์นี้มาใช้ในทางการศึกษาว่า “running sequence or learning experience” (Armstrong,1986:2) การที่เปรียบเทียบหลักสูตรกับสนาม หรือเส้นทางที่ใช้วิ่งแข่งอาจเนื่องมาจากการที่ผู้เรียนจะสำเร็จการศึกษาในระดับใดหรือหลักสูตรใดก็ตาม ผู้เรียนจะต้องฟันฝ่าความยากของวิชาหรือประสบการณ์การเรียนรู้ตามลำดับขั้นที่กำหนดไว้ในหลักสูตร เช่นเดียวกับนักวิ่งที่ต้องวิ่งแข่งและฟันฝ่าอุปสรรคไปสู่ชัยชนะและความสำเร็จให้ได้ในสมัยก่อนในประเทศไทยใช้คำว่า “หลักสูตร” กับคำศัพท์ภาษาอังกฤษว่า “syllabus” ปรากฏในหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย พุทธศักราช 2503 ฉบับภาษาอังกฤษ เรียกว่า “Syllabus for Lower secondary Educationm B.E. 2503” และ “Syllabus for Upper secondary Educationm B.E. 2503” แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมาใช้คำว่า “curriculum” แทน เช่น หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นพุทธศักราช 2521 (ฉบับปรุง2533) ฉบับภาษาอังกฤษเรียกว่า “Lower Secondary School Curriculum B.E.2521 (Revised Education B.E.2533)”  เพื่อต้องการแยกความหมายให้ชัดเจน เพราะคำว่า syllabus และ curriculum มีความหมายที่แตกต่างกันดังที่ English Language Dictionary ให้ความหมายของคำทั้งสองดังนี้
              “curriculum” หมายถึง 1. รายวิชาต่างๆ ทั้งหมดที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัย หรือมหาวิทยาลัย (all the different courses of study that are taught in a school, college, or university e.g. the school curriculum) และ 2. รายวิชาหนึ่งๆ ที่จัดสอนในโรงเรียน วิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัย (one particular course of study is taught in a school, college, or university e.g. the English curriculum )
              “syllabus” หมายถึง หัวข้อเรื่องที่จะศึกษาในรายวิชาหนึ่งๆ (the subjects to be studied in a particular course) จากความหมายข้างต้นนี้จะเห็นว่า คำว่า “curriculum” ซึ่งใช้อยู่ในปัจจุบันจะเหมาะกว่าคำว่า “syllabus” ส่วนคำว่า “syllabus” จะใช้เมื่อหมายถึงประมวลการสอนในแต่ละรายวิชาซึ่งประกอบด้วยรายละเอียดเกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ กิจกรรม การเรียนการสอน การวัดและประเมินผล “หลักสูตร” เป็นคำศัพท์ทางการศึกษาคำหนึ่งที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคย และมีผู้ให้ความหมายไว้มากมายและแตกต่างกันไปบางความหมายมีขอบเขตกว้างบางความหมายมีขอบเขตแคบทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความคิดเห็นและประสบการณ์ที่แตกต่างกันของบุคคลนั้นๆ ที่มีต่อหลักสูตร เช่น
              กู๊ด (Good,1973:157) ได้ให้ความหมายของคำศัพท์ไว้ในพจนานุกรมทางการศึกษา (Dictionary of Education) ว่า หลักสูตรคือ กลุ่มรายวิชาที่จัดไว้อย่างมีระบบหรือลำดับวิชาที่บังคับสำหรับการจบการศึกษาหรือเพื่อรับประกาศนียบัตรใบสาขาวิชาหลักต่างๆ เช่น หลักสูตรสังคมศึกษา หลักสูตรพลศึกษา
              บ๊อบบิท (Bobbit,1918:42)ได้ให้ความหมายไว้ว่า หลักสูตร คือรายการของสิ่งต่างๆ ที่เด็กและเยาวชน ต้องทำและมีประสบการณ์ ด้วยวิธีการพัฒนาความสามารถในการทำสิ่งต่างๆ ดังกล่าวให้ดี เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตในวัยผู้ใหญ่ได้
              นักลีย์และอีแวนส์ (Neagley and Evans,1967:2) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ ประสบการณ์ที่โรงเรียนจัดเพื่อช่วยให้นักเรียนได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ตามความสามารถของนักเรียน
              โอลิวา (Oliva,1982:10) กล่าวว่า หลักสูตรคือ แผนหรือโปรแกรมสำหรับประสบการณ์ทั้งหลายที่ผู้เรียนจะต้องประสบปัญหาภายใต้การอำนวยการของโรงเรียน
              วีลเลอร์ (Wheenler,1974:11) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า มวลประสบการณ์การเรียนรู้ซึ่งโรงเรียนหรือสถานการศึกษาจัดให้แก่ผู้เรียน
              โครว์ (Crow,1980:250) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรคล้ายกับของวิลเลอร์ เขากล่าวว่า หลักสูตรเป็นประสบการณ์ที่นักเรียนได้รับทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน เพื่อนักเรียนมีการพัฒนาด้านร่างกาย สังคม ปัญญา และจิตใจ
              แคสเวนและแคมป์เบลล์ (Caswell &Campbell,1935:69) ได้เสนอความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในหนังสือ Curriculum Development ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1935 โดยให้ความหมายของหลักสูตรในโรงเรียนว่า “หลักสูตรประกอบด้วยประสบการณ์ทุกอย่างที่จัดให้แก่เด็กโดยอยู่ในความดูแลการสอนของครู” แคสเวนและแคมป์เบลล์ไม่ได้มองหลักสูตรว่าเป็นกลุ่มของรายวิชาแต่หมายถึง “ประสบการณ์ทุกชนิดที่เด็กมีภายใต้การแนะนำของครู
              เซย์เลอร์และอเล็กซานเดอร์ (Saylor&Alexander,1974:6)ได้กล่าวถึงความหมายของหลักสูตรว่า “เป็นแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้ให้แก่บุคคลกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เพื่อบรรลุเป้าหมายหรือจุดมุ่งหมายที่วางไว้โรงเรียนเป็นผู้รับผิดชอบ” ซึ่งสอดคล้องกับแนวความคิดของทาบา (Taba,1962:10) ที่กล่าวไว้ว่า “หลักสูตรคือ แผนการเรียนรู้ที่ประกอบด้วยจุดประสงค์และจุดมุ่งหมายเฉพาะการเลือกและการจัดเนื้อหา วิธีการจัดการเรียนการสอน และการประเมินผล
              เชฟเวอร์และเบอร์เลค (Shaver and berlak,1968:9) กล่าวว่า หลักสูตร คือ กิจกรรมที่ครูจัดให้นักเรียนได้เล่นเพื่อให้นักเรียนได้เกิดการเรียนรู้
              ทรัมพ์และมิลเลอร์ (Trump and Miller,1973:11-12) กล่าวว่า หลักสูตรคือกิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่างๆ ที่เตรียมการไว้และจัดให้แก่เด็กนักเรียนหรือระบบโรงเรียน
              นักการศึกษาของไทยหลายท่านได้แสดงความคิดเห็น และความหมายของคำว่าหลักสูตรไว้หลายประการเช่น
              สุมิตร คุณานุกร (2520,2-3) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรไว้ในสองระดับ คือหลักสูตรในระดับชาติและหลักสูตรในระดับโรงเรียน หลักสูตรระดับชาติหมายถึง “โครงการให้การศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ และคุณลักษณะ สอดคล้องกับความมุ่งหมายทางการศึกษาที่กำหนดไว้” ส่วนหลักสูตรในระดับโรงเรียนหมายถึง “โครงการที่ประมวลความรู้และประสบการณ์ทั้งหลายที่โรงเรียนจัดให้กับนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นภายในหรือภายนอกโรงเรียนก็ตาม เพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้
              ธำรง บัวศรี (2532:6) ได้ให้ความหมายของหลักสูตรว่า คือ แผนซึ่งได้ออกแบบจัดทำขึ้นเพื่อได้แสดงถึงจุดมุ่งหมาย การจัดเนื้อหาสาระ กิจกรรม และประมวลประสบการณ์ในแต่ละโปรแกรมการศึกษา เพื่อให้ผู้เรียนมีพัฒนาการในด้านต่างๆตามจุดหมายที่ได้กำหนดไว้
              เอกวิทย์ ณ ถลาง (2521:108) เขียนในบทความเรื่อง “ข้อคิดเรื่องหลักสูตร” ได้ให้ความหมายว่า หลักสูตร หมายถึง มวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้เด็กได้เรียน เนื้อหาวิชาและทัศนคติ แบบพฤติกรรม กิจวัตร สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เมื่อประมวลเข้ากันแล้วก็เป็นประสบการณ์ที่ผ่านเข้าไปในการรับรู้ของเด็กถือว่าเป็นหลักสูตรทั้งสิ้น
                       จากความหมายของหลักสูตรในลักษณะต่างๆ ที่ได้ยกตัวอย่างของระดับความคิดของนักการศึกษาทั้งชาวต่างประเทศและชาวไทย สามารถนำมาสรุปแนวความคิดเกี่ยวกับความหมายของหลักสูตรเพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้นได้ดังนี้
              1. หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระที่จัดให้แก่ผู้เรียน
              หลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชาและเนื้อหาสาระนั้นหมายถึงวิชาและเนื้อหาสาระที่กำหนดให้ผู้เรียนต้องเรียนในชั้นและระดับต่างๆ หรือกลุ่มวิชาที่จัดขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หลักสูตรเตรียมแพทย์ หลักสูตรวิทยาศาสตร์ หลักสูตรธุรกิจ หลักสูตรตัดเสื้อและหลักสูตรการเลี้ยงสุกร
              จากอดีตตั้งแต่เริ่มมีหลักสูตรจนถึงปัจจุบันนี้ แนวคิดที่สำคัญของความหมายของหลักสูตรก็ยังคงเป็นวิชาและเนื้อหาวิชาที่ครูสอนให้ และนักเรียนใช้เรียนในสถาบันการศึกษาในระดับต่างๆ    แม้จะได้มีความพยายามที่จะทำให้หลักสูตรมีความหมายที่กว้างและแตกต่างไปจากเดิมแต่แนวความคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในฐานะที่เป็นวิชา และเนื้อหาที่จัดให้แก่ผู้เรียนก็ยังคงฝังแน่นและเป็นพื้นฐานสำคัญในการจัดหลักสูตร
              2. หลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารหลักสูตร
              กลุ่มหนึ่งจัดให้จัดให้อีกกลุ่มหนึ่ง  ประกอบด้วยจุดหมาย หลักการ โครงสร้าง เนื้อหาสาระ อัตราเวลาเรียน  กิจกรรมประสบการณ์ และการประเมินผลการเรียน  เพื่อให้ผู้เรียนมีรู้ความสามารถ มีเจตคติที่ดีในการอยู่ร่วมกัน  มีพฤติกรรมตามที่กำหนดไว้ในจุดมุ่งหมายของหลักสูตร แนวคิดนี้จะเน้นหลักสูตรในฐานะที่เป็นเอกสารเป็นรูปเล่ม  ซึ่งจำแนกเป็น 2 ประเภท คือ เอกสารหลักสูตร และเอกสารประกอบหลักสูตร
              เอกสารหลักสูตรเป็นเอกสารที่กล่าวถึงสาระของหลักสูตรโดยตรง  คือกล่าวถึงจุดมุ่งหมายหลักการ  โครงสร้าง  และเนื้อหาที่จัดไว้ในหลักสูตรนั้นๆ เช่น หลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้น  พุทธศักราช 2521 (ฉบับปรับปรุง พุทธศักราช 2533) หลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์บัณฑิตสาขาวิศวกรรมเครื่องกล หลักสูตรศิลปกรรมศาสตร์บัณฑิต เป็นต้น
              ส่วนเอกสารประกอบหลักสูตร  เป็นเอกสารที่อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ  ของหลักสูตรเพื่อให้การนำหลักสูตรไปใช้ได้ผลตามความมุ่งหมาย  ตัวอย่างเอกสารประกอบหลักสูตรได้แก่  คู่มือหลักสูตร  คู่มือครูเกี่ยวกับหลักสูตร  แผนการสอนกลุ่มวิชาต่างๆ หรือคู่มือการประเมินผลการเรียน 
              3. หลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะให้แก่ผู้เรียน
              แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นกิจกรรมต่างๆ  ที่จัดให้แก่ผู้เรียนนี้เป็นการมองหลักสูตรในลักษณะของกิจกรรมต่างๆ  ที่ครูและนักเรียนจัดขึ้น  หรือกิจกรรมการเรียนการสอนชนิดต่างๆ ที่เตรียมไว้และจัดให้แก่ผู้เรียนโดยโรงเรียนทั้งในและนอกโรงเรียน  เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้  ประสบการณ์  และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่กำหนด  กิจกรรมต่างๆ  ที่เหมาะสมเป็นสิ่งที่สำคัญ  เพราะจะนำไปสู่ประสบการณ์ทางด้านความรู้  ความเข้าใจ  เจตคติ ทักษะต่างๆ อันแสดงถึงการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ  กิจกรรมที่ควรจัดให้แก่ผู้เรียนจะต้องปรากฏอยู่ในหลักสูตรอย่างชัดเจน  หลักสูตรหมายถึงกิจกรรมต่างๆที่จัดให้ผู้เรียน
              4. หลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียน
              แนวคิดของหลักสูตรในฐานะแผนสำหรับจัดโอกาสการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวังแก่นักเรียนนี้  จะเป็นแผนในการจัดการศึกษาเพื่อแนวทางให้ผู้ที่เกี่ยวข้องปฏิบัติ  โดยมุ่งให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ  และพฤติกรรมตามที่กำหนด  แผนสำหรับจัดโอกาสทางการศึกษาจะแสดงเกี่ยวกับจุดหมายหรือจุดประสงค์ของการออกแบบหลักสูตร  การนำหลักสูตรไปใช้และการประเมินผล  แผนนี้สร้างขึ้นตามประเภทสถานการณ์หรือกลุ่มบุคคลในระดับการศึกษาต่างๆ  เช่น  หลักสูตรก่อนวัยเรียน  หลักสูตรประถมศึกษา  หลักสูตรอุดมศึกษา  หรืออาจหมายถึงกลุ่มของแผนย่อยต่างๆ  ที่ทำให้ผู้เรียนมีโอกาสพัฒนาการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่คาดหวัง
              5. หลักสูตรในฐานะที่เป็นมวลประสบการณ์
              แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นประสบการณ์ของผู้เรียนนั้น  หมายถึงประสบการณ์  ทุกอย่างของนักเรียนที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน  รวมถึงเนื้อหาวิชาที่โรงเรียนจัดให้แก่ผู้เรียนด้วย  แนวคิดนี้เกิดจากสาเหตุ  2  ประการ คือ ประการหนึ่ง การไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของหลักสูตรในความหมายแคบที่ไม่ส่งเสริมให้เกิดพัฒนาการรอบด้านขึ้นในตัวผู้เรียน  ประการที่สอง  การสอนของครูที่ยึดหนังสือเรียนและเนื้อหาสาระมากเกินไปทำให้การสอนจืดชืดไม่มีชีวิตชีวา โรงเรียนจึงควรจัดกิจกรรมสร้างเสริมประสบการณ์ต่างๆ  เพื่อพัฒนาและส่งเสริมให้ผู้เรียนได้คิด ได้กระทำ  ได้แก้ปัญหา  และค้นพบด้วยตนเอง  การจัดหลักสูตรจึงควรพิจารณาถึงประสบการณ์ ทุกด้านที่พึ่งมีของผู้เรียน
              ความหมายของหลักสูตรตามแนวคิดนี้ครอบคลุมความรู้และประสบการณ์ทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบโรงเรียนที่จัดให้แก่ผู้เรียน  เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้  แนวคิดในความหมายของหลักสูตรดังกล่าวนี้เป็นความหมายในแนวกว้างและสมบูรณ์ที่สุด  เพราะครอบคลุมทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ในความรับผิดชอบของโรงเรียน
              6. หลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทาง
              แนวคิดเกี่ยวกับหลักสูตรในฐานะที่เป็นจุดหมายปลายทางนั้น  เป็นสิ่งที่สังคมมุ่งหวังหรือคาดหวังให้เด็กได้รับ  กล่าวคือ  ผู้ที่ศึกษาจนจบหลักสูตรไปแล้วจะมีคุณลักษณะอย่างไรบ้างจะเกิดผลอย่างไรในตัวผู้เรียนบ้าง แนวคิดนี้มองหลักสูตรในฐานะที่ทำให้เกิดผลการเรียนรู้ตามที่มุ่งหวังที่จะเกิดขึ้นจากการเรียนรู้  ดังนั้นการจัดการหลักสูตร  การกำหนดจุดมุ่งหมาย  เนื้อหาสาระกระบวนการเรียนการสอนและการประเมินผล  จำต้องศึกษาและวางแผนให้สอดคล้องสัมพันธ์ซึ่งกันและกันด้วย
              7. หลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนและกิจกรรมการเรียนการสอน
              แนวคิดของหลักสูตรในฐานะที่เป็นระบบการเรียนการสอนนั้น  เป็นการมองหลักสูตรในฐานะที่เป็นแผนการเตรียมโอกาสของการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนที่จัดขึ้นโดยโรงเรียน หรือสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้  เป็นการคาดการณ์ล่วงหน้าโดยรวมเอาแผนย่อยๆ ที่เป็นโอกาสของการเรียนรู้ที่คาดหวังเข้าไว้ด้วยกัน  แผนงานนั้นมิได้เกิดขึ้นอย่างลอยๆ แต่จะมีการวางแผนสำหรับสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่งโดยเฉพาะ ดังนั้น แผนงานจึงถูกกำหนดขึ้นเพื่อผู้เรียนโดยโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่รับผิดชอบในการจัดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ผู้เรียน
              จากความหมายของหลักสูตรข้างต้นจะเห็นว่า  ความหมายของหลักสูตรมีการขยายความหมายและเปลี่ยนแปลงไป  ซึ่งสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสามารถสรุปได้ดังนี้
                   1. ยุคสมัยหรือกาลเวลา จะเห็นได้ว่า แต่ละยุคแต่ละสมัย มนุษย์เล็งเห็นคุณค่าและใช้ประโยชน์จากการศึกษาต่างๆ กัน
                   2. ความเชื่อในปรัชญาและจิตวิทยาการศึกษา ความเชื่อปรัชญาที่เปลี่ยนไปทำให้ความหมายของหลักสูตรเปลี่ยนไป เช่น ถ้าเชื่อในปรัชญาจิตนิยม และช่วงที่จิตวิทยายังไม่เข้ามามีบทบาททางการศึกษา ความหมายของหลักสูตรก็คือเนื้อหาวิชาที่ให้เด็กเรียน ต่อมาเมื่อมีความเชื่อในปรัชญาพิพัฒนาการนิยม และมีจิตวิทยาเข้ามามีบทบาททางการศึกษา ความหมายของหลักสูตรก็เปลี่ยนเป็นกิจกรรมหรือมวลประสบการณ์ทั้งหลายที่จัดให้แก่เด็ก
                   3. สภาพการดำรงชีวิต สังคม และวัฒนธรรม ตลอดจนลัทธิการปกครองก็เป็นตัวกำหนดความหมายของหลักสูตรด้วยส่วนหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น